1. ชื่อสมุนไพร แมงลัก
ชื่อวิทยาศาสตร์ Ocimum africanum Lour.
ชื่อวงศ์ APIACEAE (LABIATAE)
ชื่อพ้อง Ocimum pilosum Willd.
Ocimum basilicum L. var. pilosum (Willd.) Benth.
Ocimum americanum L. var. pilosum (Willd.) A.J. Paton
Ocimum citratum Rumph.
Ocimum minimum sensu Burm.f.
Ocimum basilicum L. var. anisatum Benth.
Ocimum graveolens A. Braun
Ocimum petitianum A. Rich.
ชื่ออังกฤษ Hairy basil, American basil, Lemon basil
ชื่อท้องถิ่น ก้อมก้อข้าว, มังลัก
2. ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ไม้ล้มลุกอายุสั้นฤดูเดียว ลำต้นตั้งตรง แตกกิ่งก้านมาก มีกลิ่นหอมเฉพาะตัว สูง 0.3-1 เมตร ลำต้นและกิ่งก้านเป็นสี่เหลี่ยม สีเขียวแกมเหลือง เมื่อยังอ่อนอยู่มีขนสีขาวหนาแน่น ใบเดี่ยวออกเรียงตรงข้าม เป็นรูปหอกถึงวงรี กว้าง 1-2.5 เซนติเมตร ยาว 2.5-5 เซนติเมตร โคนใบรูปลิ่ม ปลายใบแหลม ขอบใบเรียบ ผิวใบเรียบ มีต่อมมันทั่วไป ก้านใบยาวได้ถึง 2.5 เซนติเมตร ดอกเป็นช่อยาวได้ถึง 15 เซนติเมตร ประกอบด้วยช่อดอกย่อยออกเป็นกระจุกๆ ละ 3 ดอก ข้อละ 2 กระจุก ใบประดับรูปวงรีแกมใบหอก ยาว 2-3 มิลลิเมตร มีขน ก้านดอกย่อยยาวได้ถึง 4 มิลลิเมตร กลีบเลี้ยงเชื่อมติดกันปลายแยกเป็น 2 พู กลีบดอกสีขาว เชื่อมติดกันเป็นหลอด ปลายแยกเป็น 2 ปาก ยาว 4-6 มิลลิเมตร มีเกสรตัวผู้ 4 อัน ยาว 2 อัน สั้น 2 อัน เกสรตัวเมียมีไข่ 4 อัน รังไข่เว้าเป็น 4 พู ผลแห้งประกอบด้วยผลย่อย 4 ผล มีกลีบเลี้ยงหุ้มอยู่ ผลย่อยทรงรูปไข่ สีดำ กว้าง 1 มิลลิเมตร ยาว 1.25 มิลลิเมตร
3. ส่วนที่ใช้เป็นยาและสรรพคุณ
- เมล็ด ใช้เป็นยาระบาย
4. สารสำคัญที่เชื่อว่าเป็นสารออกฤทธิ์ หรือสารที่ใช้ประเมินคุณภาพของสมุนไพร
สารเมือกอยู่โดยรอบเมล็ดแมงลัก ซึ่งจะพองตัวเมื่อละลายในน้ำ
5. ฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา
5.1 ฤทธิ์เป็นยาระบาย
เมล็ดแมงลักช่วยการขับถ่ายเพราะเปลือกด้านนอกสามารถพองตัวได้ถึง 45 เท่า โดยไม่ถูกย่อย ทำให้เพิ่มกากและช่วยหล่อลื่น ทำให้ขับถ่ายสะดวกขึ้น จากการศึกษาในอาสาสมัครโดยให้รับประทานเมล็ดแมงลัก ผสมน้ำ พบว่าสามารถเพิ่มปริมาณอุจจาระและจำนวนครั้งในการถ่าย และทำให้อุจจาระอ่อนตัวกว่าปกติ เช่นเดียวกับการรับประทาน psyllium
นอกจากนี้ยังทำการศึกษากับผู้ป่วยที่จะผ่าตัดต่อมลูกหมาก หรือผ่าตัดนิ่วในไต พบว่ากลุ่มที่รับประทานเมล็ดแมงลักมีสัดส่วนของคนที่มีอาการท้องผูกหลังการผ่าตัดน้อยกว่ากลุ่มที่ไม่ได้รับเมล็ดแมงลัก แสดงให้เห็นว่าเมล็ดแมงลักสามารถลดอาการท้องผูกหลังผ่าตัดได้
จากการทดลองในสัตว์ทดลอง โดยป้อนเมล็ดแมงลักผสมน้ำให้หนูแรทและหนูเม้าส์ พบว่ามีผลเพิ่มการเคลื่อนไหวของลำไส้ได้เทียบเท่ากับการให้หนูกินยาถ่าย metamucil
6. อาการข้างเคียง
ถ้าใช้เมล็ดแมงลักที่ยังพองตัวไม่เต็มที่ จะทำให้มีการดูดน้ำจากลำไส้ เกิดอาการขาดน้ำ และอาจเกิดอาการลำไส้อุดตันได้โดยเฉพาะกับชนิดที่บดเป็นผง
7. ความเป็นพิษทั่วไป
7.1 การทดสอบความเป็นพิษ
การทดสอบความเป็นพิษเฉียบพลัน โดยป้อนเมล็ดแมงลักให้หนูแรทในขนาด 5 กรัม/กิโลกรัม ครั้งเดียว ไม่พบว่ามีพิษใดๆหลังจากนั้น 7 วัน ในการทดสอบพิษกึ่งเรื้อรังโดยป้อนเมล็ดแมงลักให้หนู กระต่าย และแมว ในขนาด 1 กรัม/กิโลกรัม ติดต่อกันเป็นเวลา 10 วัน ไม่พบว่ามีพิษต่ออวัยวะต่างๆ และ การทดสอบพิษเรื้อรังโดยการป้อนเมล็ดแมงลักให้หนูแรท ขนาด 0.25, 0.5, 1 และ 2 กรัม/กิโลกรัม เป็นเวลา 12 สัปดาห์ ไม่พบการเปลี่ยนแปลงของตับ ลำไส้เล็ก และลำไส้ใหญ่ เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุม การศึกษาความเป็นพิษแบบเฉียบพลัน พิษกึ่งเรื้อรัง และพิษเรื้อรัง ของเมล็ดแมงลัก โดยป้อนเมล็ดแมงลักที่ละลายน้ำให้พองตัว ในขนาด 0.3, 0.5 และ 1 กรัม/กิโลกรัม ให้หนูแรท เป็นเวลา 1 วัน 1 สัปดาห์ และ 1 ปี ก็ไม่พบความเป็นพิษใด ๆ
8. วิธีการใช้
8.1 การใช้แมงลักเป็นยาระบายตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข (สาธารณสุขมูลฐาน)
ให้นำเมล็ดแช่น้ำจนพองเต็มที่ก่อนรับประทาน
8.2 ยาจากสมุนไพรในบัญชียาหลักแห่งชาติ
ไม่มี